วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การวิจัยสารสกัดจากแก่นมะหาด

จากการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าแก่นมะหาดนั้นสามารถสกัดเอาสารที่มีฤทธิ์ยับยั้ง “เอนไซม์ไทโรซิเนส” ได้ส่งผลให้ให้ผิวขาวขึ้น

ไทโรซิเนส ก็คือเอนไซม์ที่สามารถพบได้ในสิ่งมีชีวิตหลายชนิด
  • เอนไซม์ไทโรซิเนสที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีหน้าที่สร้างเม็ดสีให้ผิวหนัง ผม และตา 
  • ส่วนพืชผักผลไม้นั้นเอนไซม์ไทโรซิเนสจะทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการเกิดสีหมองคล้ำเมื่อถูกกระแทกหรือขีดข่วน 
  • ส่วนในแมลง เอนไซม์ชนิดนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน 
การวิจัยเพื่อหาสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสจึงอาจนำไปสู่การค้นพบสารที่มีฤทธิ์ชีวภาพซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์หลายชนิด เช่น นำสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสไปพัฒนาเป็นสารช่วยให้ผิวขาว เป็นสารปกป้องการหมองคล้ำของอาหารประเภทพืชผักผลไม้หรือเป็นสารที่ใช้ควบคุมการเจริญของแมลง

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ศึกษาวิจัยสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส โดยพบว่า สารธรรมชาติในกลุ่มสติลบีนหลายชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส สารดังกล่าวมีทั้งที่ได้จากธรรมชาติและจากการสังเคราะห์ และพบว่า สารออกซิเรสเวอราทรอล ที่สกัดจากแก่นของมะหาด ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถพบได้โดยทั่วไปในประเทศไทย สามารถยับยั้งการเกิดของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้มากถึง 10 เท่า จากการทดลองในสัตว์และมนุษย์ในระยะสั้นพบว่า สามารถทำให้ผิวขาวได้มากขึ้นและเร็วกว่าสารสกัดจากชะเอมที่ใช้ในเครื่องสำอางโดยทั่วไปและไม่เกิด ผลกระทบต่อผิวหนัง ซึ่งในตำรายาไทยแก่นของมะหาดจะใช้ชื่อทางยาว่า โป่งหาด มีสรรพคุณในการถ่ายพยาธิ ขณะนี้การผลิตสารออกซิเรสเวอราทรอลในเชิงพาณิชย์ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากอาจมีกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะต้องตัดต้นมะหาดเพื่อนำแก่นของต้นมาสกัดสารดังกล่าว

รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า

ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์บำรุงผิวใช้สารที่ออกฤทธิ์ทำให้ผิวขาวมีหลายชนิด เช่น สารสกัดจากชะเอม สารสกัดจากเชื้อรา ซึ่งที่ผ่านมายังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย และมีกลไกในการออกฤทธิ์ต่างกัน ข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวคือ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา และมีฉลากที่ถูกต้อง รวมถึงไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอทซึ่งอาจเกิดอันตราย

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ ส่วนส่งเสริมและพัฒนาวิจัย สำนักบริหารวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [http://www.research.chula.ac.th/rs_news/2551/N006_22.htm]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น